ห้องเรียนเกษตรอินทรีย์ขั้นพื้นฐาน บทที่ 1 หลักการเกษตรอินทรีย์
วิถีแห่งความยั่งยืน เกษตรอินทรีย์
เป็นระบบการผลิตทางการเกษตรระบบหนึ่งครับ
ที่ให้ความสำคัญต่อระบบนิเวศโดยรวม
ให้ความสำคัญต่อดินและการหมุนเวียนทรัพยากรแร่ธาตุ
พึ่งพาอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพ
หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิด .
ปฏิเสธการใช้พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์
ที่มาจากการดัดแปลงโดยพันธุวิศวกรรม
พื้นฐานแนวความคิดของเกษตรอินทรีย์ มาจากภาพรวมในป่าใหญ่
ที่พืชพรรณต่างๆนาๆได้รับธาตุอาหารจากดินโดยผ่านราก
และธาตุอาหารจากทางอากาศโดยผ่านทางการหายใจผ่านใบ
แล้วเกิดการสังเคราะห์แสงนำธาตุอาหารต่างๆเหล่านั้นมาใช้
ทำให้พืชเจริญเติบโต มีปริมาณของชีวมวลเพิ่มขึ้น
(Bio Mass) ซึ่งก็คือลำต้นที่ใหญ่ขึ้น
กิ่งก้านสาขาและใบที่มากขึ้น รวมไปถึงผล
เมื่อใบแก่ กิ่งหัก ทิ้งลูก ก็ร่วงหล่นลงพื้น
เมื่อลงสู่พื้นดินก็ถูกจุลินทรีย์ในพื้นดินย่อยสลาย
มีแมลงต่างๆที่กัดกินแทะใบไม้แล้วกลายเป็นมูลกลับคืนสู่ดิน
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่เราเรียกว่า “อินทรียวัตถุ”
ด้วยวงจรสมดุลธาตุอาหารนี้เองที่ทำให้พืชพรรณต่างๆในป่าใหญ่
สามารถดำรงค์คงอยู่มาได้อย่างสมบูรณ์กว่าพันกว่าหมื่นปี(เป็นล้านปี)
เพราะธาตุอาหารหมุนเวียนอยู่ในระบบนิเวศโดยไม่หายไปไหน
การหมุนเวียนธาตุอาหาร จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเกษตรระบบอินทรีย์
แต่เนื่องด้วยการทำการเกษตรนั้น
จะมีธาตุอาหารสูญหายไปจากการขายผลผลิตเสมอ
ซึ่งธาตุอาหารส่วนที่หายไปจากระบบนิเวศนี้เอง
ที่เกษตรกรจำเป็นต้องหาวิธีที่เหมาะสม
ในการหาธาตุอาหารจากภายนอกมาชดเชย
ปัญหาการสูญเสียธาตุอาหารยังเกิดจากอีกหลายๆปัจจัย
เช่น การชะล้างของหน้าดิน โดยลม ฝน น้ำ
ดังนั้นการหมุนเวียนธาตุอาหารในสวนอินทรีย์
จึงเน้นเรื่องของการใช้อินทรียวัตถุ
ที่สามารถย่อยสลายได้ด้วย “จุลินทรีย์”
โดยการคลุมดินด้วย อินทรียวัตถุ
การใช้ปุ๋ยหมัก/น้ำหมักชีวภาพ การปลูกพืชเป็นปุ๋ยสด
การปลูกพืชหมุนเวียน ฯลฯ
เราทราบดีแล้วว่า ดิน มีความสำคัญอย่างยิ่ง
เพราะความอุดมสมบูรณ์ในดินส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของพืช
เราเห็นแล้วว่าผิวดินในระบบนิเวศในป่ามีเศษซากใบไม้
ปกคลุมดินอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งอินทรียวัตถุที่คลุมดินนี้ยังช่วยเรื่องของการกัดเซาะหน้าดินของน้ำ
แถมยังเป็นอาหารของจุลินทรีย์ ทำให้ดินเป็น “ดินที่มีชีวิต”
การย่อยสลายอินทรียวัตถุโดยจุลินทรีย์
และสิ่งมีชีวิตต่างๆก่อให้เกิด ฮิวมัสซึ่งมีความสำคัญในการกักเก็บน้ำ ธาตุอาหาร
ส่งผลให้เกิดความชื้น ทำให้พืชพรรณในบริเวณนั้นสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
จึงมีการดัดแปลงเลียนแบบธรรมชาติขึ้น
โดยการมีการนำวัสดุคลุมดินซึ่งเป็นอินทรียวัตถุ ใบไม้ ฟาง
หรือ แม้แต่ต้นหญ้าที่เกษตรระบบเคมีมักจะใช้ยาฆ่าหญ้าฆ่าทิ้งนั้น
อันที่จริงก็เป็นประโยชน์ต่อสวนไม่น้อย
ต่อจากนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของจุลินทรีย์ในดินที่จะย่อยสลายให้กลายเป็นดินใหม่
การไม่ใช่สารเคมีสังเคราะห์ ยาฆ่าแมลง สารกำจัดศัตรูพืช
ทำให้จุลินทรีย์ในดินสามารถคงอยู่ได้
และมีสมดุลของความหลากหลายในระบบนิเวศ (Bio diversity)
โดยมีหลักการเรื่องของการอยู่อาศัยกันอย่างพึ่งพาและแข่งขันซึ่งกันและกัน
กล่าวคือ แม้จะมีศัตรูพืชตามธรรมชาติแต่ก็ไม่ได้ทำความเสียหายอะไรมากนัก
และพืชเองก็สามารถฟื้นตัวเองได้
และศัตรูพืชเหล่านั้นก็มีศัตรูตามธรรมชาติที่คอยกำจัดอยู่เช่นเดียวกัน
ก่อให้เกิดสมดุลที่เราไม่ต้องเข้าไปจัดการใดๆ
เพราะประชากรของศัตรูพืชนั้นถูกควบคุมอยู่
ในเกษตรระบบเคมีนั้นมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ
อันที่จริงแล้วศัตรูพืชนั้นมีความสามารถในการปรับตัวพัฒนาภูมิต้านทาน
ให้เข้ากับสารกำจัดศัตรูพืชได้ดีมาก ทำให้เกิดการดื้อยา
และไม่สามารถกำจัดออกไปได้ ทั้งยังเพิ่มจำนวนได้มากขึ้น
เพราะ สารเหล่านี้จะออกผลได้ดีกว่ากับศัตรูตามธรรมชาติของศัตรูพืช
ทำให้สัตว์เหล่านั้นตายไปทั้งหมด
ทำไปทำมาศัตรูพืชกลับยิ่งระบาดมากกว่าเก่าเสียอีก (เพราะไม่มีใครมากินพวกนี้)
ดังนั้นเราจึงต้องอนุรักษ์ระบบนิเวศเอาไว้
และหากเกิดความเสียหายก็จำเป็นต้องฟื้นฟูระบบนิเวศการเกษตร
เป็นแนวทางสำคัญหลักที่จะลดการรุกรานของศัตรูพืชลง
จึงเป็นการปฏิเสธการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในทุกกระบวนการไปโดยปริยาย
เพราะสารเคมีเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์บนผิวดินและใต้ดินที่เป็นประโยชน์
ซึ่งนั่นก็คือ แมลง ไส้เดือน จุลินทรีย์ หากเกิดผลกระทบต่อสัตว์เหล่านี้ในแปลงสวนของเราแล้ว
ระบบสมดุลก็จะเสียไป ส่งผลกระทบไปถึงการควบคุมประชากรศัตรูพืช
การผสมเกษตรของแมลงต่างๆ รวมไปถึงการย่อยสลายอินทรียวัตถุ
การฟื้นฟูดินด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ในทางเกษตรอินทรีย์
ดิน มีความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ เพราะดินเป็นที่อยู่อาศัยของต้นพืชทั้งหลาย
หากดินดีมีธาตุอาหารครบถ้วนสมบูรณ์ก็จะสร้างความสมบูรณ์ให้กับพืชได้อย่างยั่งยืน
ทำให้พืชมีความต้านทานต่อโรคและแมลง ทำให้ลดภาระการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช
ลดต้นทุนลงไปด้วย แถมส่งผลให้ผลผลิตมีรสชาติดี มีผลใหญ่รูปทรงสวยงาม
และคงคุณค่าทางโภชนาการสูง ปราศจากต่อสารพิษ
สุดท้ายการพึ่งพาปัจจัยการผลิต เน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก
แต่หากต้องการปัจจัยการผลิตภายนอกก็สามารถกระทำได้
โดยปัจจัยการผลิตสนับสนุนที่นำมาใช้ในสวนเกษตรอินทรีย์นั้น
จะเน้นไปในการสร้างความยั่งยืนให้กับระบบการผลิตในระยะยาว
นั่นหมายถึงปัจจัยการผลิตนั้นจะต้องเกื้อกูลส่งเสริมระบบสมดุลนิเวศในธรรมชาติ
ไม่ทำลายจุลินทรีย์อันเป็นประโยชน์ในดิน
ไม่ทำลายสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศการเกษตร
******************************************************************
สรุปก็คือ พื้นฐานของเกษตรอินทรีย์ จะยึดหลักสำคัญดังต่อไปนี้
1.การหมุนเวียนธาตุอาหาร
2.ความสัมพันธ์ของความหลากหลายในระบบนิเวศ
3.การทำการเกษตรที่แนบอิงไปตามวิถีธรรมชาติ
4.การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศการเกษตร
5.การพึ่งพาปัจจัยการผลิตที่ส่งเสริมการเกื้อกูลกันของระบบนิเวศ
******************************************************************
ผู้เขียน – เกษตรกรอินทรีย์สมัยใหม่ คุณเบียร์+ มีเฮ
www.facebook.com/meehaythai
ใส่ความเห็น